Bumpsteer คืออะไร?

Bumpsteer (บั๊ม-สเตียร์) คือการที่รถยนต์มีการ ‘เลี้ยวเอง’ (Self-steer) โดยจะเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ล้อหน้าวิ่งผ่านหลุมหรือลูกระนาด (Bump) โดยการเคลื่อนที่ขึ้น-ลงของล้อหน้า จะทำให้ชิ้นส่วนของระบบบังคับเลี้ยวเกิดการเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมุมล้อแบบชั่วขณะ (มุมที่เปลี่ยนแปลงคือมุมโท อาจจะโท-อินมากขึ้น หรือโทเอาท์มากขึ้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบของระบบบังคับเลี้ยว) เพราะฉะนั้น Bumpsteer ถือเป็นอาการที่ ‘ไม่พึงประสงค์’ และควรแก้ไขให้รถยนต์มีอาการ Bumpsteer น้อยที่สุด

 

สาเหตุของอาการ Bumpsteer

อาการ Bumpsteer เกิดจากรูปแบบของระบบบังคับเลี้ยวและระบบช่วงล่าง (Suspension Kinematics) ความยาวและตำแหน่งของจุดยึดชิ้นส่วนช่วงล่าง รวมไปถึงความยาวและองศาของคันชัก-คันส่ง ปัจจัยเหล่านี้ ถ้าหากไม่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้เกิดอาการ Bumpsteer อย่างเลี่ยงไม่ได้

วิดีโอ – ลักษณะของอาการ Bumpsteer

 

การเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ที่ไม่สัมพันธ์ระหว่างปีกนกและคันชัก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ Bumpsteer

สำหรับช่วงล่างของรถยนต์ในปัจจุบันนั้น มีการออกแบบเพื่อลดอาการ Bumpsteer มาแล้วส่วนหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการ Bumpsteer ยังสามารถพบเห็นได้ในรถยนต์ส่วนใหญ่ ซึ่งจะมาก-จะน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับรถยนต์แต่ละรุ่นว่าให้ความสำคัญกับอาการ Bumpsteer มากน้อยแค่ไหน โดยปกติแล้ว รถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงจากโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น Porsche หรือ BMW (M-Series) จะออกแบบระบบบังคับเลี้ยวเพื่อให้มีอาการ Bumpsteer น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของการบังคับเลี้ยวขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากมี Bumpsteer มากเกินไป?

Bumpsteer ที่มากเกินไป จะส่งผลให้รถเกิดอาการ ‘เลี้ยวเอง’ ในขณะที่ขับผ่านหลุม,  ทางขรุขระ, ข้อต่อถนน หรือว่าลูกระนาด ทำให้สามารถควบคุมรถยนต์ได้ยาก อีกทั้งยังเป็นผลให้ยางสึกหรอเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้น อาการ Bumpsteer ยังทำให้รถเสียสมดุลในขณะเข้าโค้งความเร็วสูง เป็นผลให้คนขับต้องแก้อาการรถตลอดเวลาขณะอยู่ในโค้ง

สำหรับรถแต่งหรือรถแข่งที่ได้ทำการลดความสูงของตัวรถ จะส่งผลโดยตรงต่อ Bumpsteer ซึ่งมีโอกาสทำให้รถเกิดอาการ Bumpsteer มากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นแล้ว รถประเภทนี้จึงต้องอาศัยการปรับแต่งระบบขับเลี้ยว (Steering System) เพื่อลดอาการ Bumpsteer ให้ได้มากที่สุด

 

เราสามารถแก้ไขอาการ Bumpsteer ได้อย่างไรบ้าง?

โดยปกติ การแก้ไขอาการ Bumpsteer จะเป็นการปรับความยาวและองศาของชิ้นส่วนระบบบังคับเลี้ยว วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการแก้ไขที่คันชัก-คันส่ง โดยจะเปลี่ยนทั้งความยาวของคันชัก-คันส่ง รวมไปถึงเปลี่ยนตำแหน่งจุดยึดเพื่อให้มีองศาที่ทำให้เกิดอาการ Bumpsteer น้อยที่สุดนั่นเอง

การแก้ Bumpsteer โดยใส่คันชักที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ

 

การแก้ Bumpsteer โดยการปรับระดับของแร็คพวงมาลัย

 

การตรวจสอบค่า Bumpsteer

การวัดค่า Bumpsteer สามารถทำได้ไม่ยากนัก เครื่องมือวัดที่เราต้องการคือไดอัลเกจจำนวน 2 ตัว หรืออาจจะใช้เครื่องมือสำหรับวัด Bumpsteer โดยเฉพาะก็ได้ หลังจากนั้นให้ใช้แม่แรงยกล้อเพื่อปรับระยะความสูงขึ้น-ลง และจดบันทึกค่าการเปลี่ยนแปลงของมุมโทเอาไว้

ค่าของมุมโทจะเปลี่ยนแปลงไปกับความสูงของล้อ หรือที่เรียกว่า Ride Height กราฟด้านล่างเป็นค่าที่ได้จากการวัด Bumpsteer ของ Honda Jazz GE8 ซึ่งเป็นรถที่ได้มีการโหลดต่ำลงจากความสูงเดิมประมาณ 1.5 นิ้ว จะเห็นได้ว่า ค่ามุมโทจะเปลี่ยนไปเมื่อล้อมีการเคลื่อนที่ขึ้น-ลง (เส้นสีดำ)

เปรียบเทียบความสูงของจุดหมุนระหว่างคันชัก OEM (ด้านซ้าย) และคันชัก GRIPEN (ด้านขวา)

หลังจากนั้น ได้ทำการเปลี่ยนคันชักเป็นของ GRIPEN ซึ่งจะช่วยลดความสูงของคันชักฝั่งคอม้า ทำให้อาการ Bumpsteer ลดลงอย่างชัดเจน (เส้นสีฟ้า)

เปรียบเทียบค่า Bumpsteer ของคันชัก OEM (สีดำ) และคันชัก GRIPEN (สีฟ้า) ของ Honda Jazz GE8